วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

คุณธรรมกู้ชาติ


เมื่อกล่าวถึงคำว่า "คุณธรรม" ทุกคนทราบ และทุกคนก็(คาดว่า) อยากจะมี เพราะอย่างน้อยเป็นเครื่องชี้วัดว่าตัวเองมีค่าของความเป็นมนุษย์ที่ต่างจากสัตว์ทั่วไป แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจอย่างแท้จริง เมื่อไม่เข้าใจอย่างแท้จริง คนที่ประกาศตัวเองว่าเป็นผู้มีคุณธรรม ก็ไม่ใช่คนที่มีคุณธรรมอย่างแท้จริง ถ้าลักษณะเช่นนี้เกิดกับผู้มีอำนาจ มีส่วนได้ส่วนเสียกับอนาคตของชาติ โดยเฉพาะนักการเมือง ก็ย่อมจะกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างเช่นที่เราประสบอยู่ในปัจจุบัน แต่เรายังไม่สายเกินไปที่จะมาเริ่มทบทวนกันใหม่ และก้าวเดินไปพร้อมกันอย่างมั่นคงบนหลักแห่งคุณธรรมอย่างแท้จริง เพื่อกู้ชาติของเราให้พ้นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอันเป็นบทเรียนที่แสนสาหัสนี้ เพื่อให้เข้าใจคำว่าคุณธรรมที่แท้จริง ท่านลองนึกถึงสิ่งที่มีชีวิตต่างๆ ทั่วไปรวมถึงมนุษย์เรา สิ่งที่เหมือนกันของสิ่งมีชีวิตคือ มีการเคลื่อนไหว(motion) และมีการกระทำ(action) ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า พฤติกรรม(behavior) เป็นระดับที่สิ่งมีชีวิตนั้นไม่มีการตัดสินใจ สัตว์ทั่วๆ ไปจะมีพฤติกรรมแตกต่างกันไป แต่สำหรับคนต้องมีพัฒนาการทางจิตใจมากกว่านี้ ถ้าคนที่มีเพียงพฤติกรรมก็เป็นคนไม่สมบูรณ์เป็นลักษณะที่เรียกว่า"ปัญญาอ่อน" แต่ถ้าคนมีพฤติกรรมอยู่ภายใต้จิตสำนึกและมีการตัดสินใจ จะเรียกลักษณะของคนอย่างนั้นว่า ความประพฤติ(conduct) มีสัตว์หลายชนิดที่มีวิวัฒนาการถึงขั้นแสดงความประพฤติในลักษณะต่างๆ รวมทั้งคน คนทั่วไปจะมีทั้งความประพฤติดีและความประพฤติไม่ดี ถ้าบุคคลใดมีจิตสำนึกดีและมีการตัดสินใจดี ลักษณะเช่นนี้จะเรียกบุคคลนั้นว่าเป็นคนมี "มโนธรรม(conscience)" เรามักจะพบเห็นคนเช่นนี้บ่อยๆ และมักจะสรุปว่า เป็นคนมีคุณธรรม ดังตัวอย่างที่เราพบเห็นบ่อย เช่น การเก็บเงินได้แล้วนำคืนเจ้าของก็ยกย่องว่าเป็นคนดีมีคุณธรรม หารู้ไม่ว่าเขาคืนเพราะมีคนอื่นพบเห็นหรือมีเงินน้อยไป หรือคนโดดลงน้ำช่วยคนตกน้ำ ซึ่งบางครั้งกระโดดลงไปช่วยเพราะคนนั้นเป็นญาติ(ไม่ใช่ญาติก็ไม่ช่วยเหลือ) หรือเพราะคนนั้นเป็นลูกหนี้(กลัวลูกหนี้ตาย) หรือไม่ก็เป็นเพราะเพื่อนผลักลงไปให้ช่วยคนตกน้ำ โดยจิตสำนึกแล้วจะไม่กระทำหรือทำเป็นครั้งคราว ถ้าเป็นคนที่มีจิตสำนึกดี มีการตัดสินใจดี คือมีจิตใจในระดับมโนธรรมและบุคคลนั้นยังต้องยึดถือมโนธรรมนั้น "เป็นประจำจนเคยชิน" จะเป็นคนที่พัฒนาจิตใจถึงระดับที่เรียกว่า "คุณธรรม(virtue)" บุคคลที่มีคุณธรรมจะต้องไม่เสแสร้ง ไม่อ้างตนเองว่าใจสัตย์ซื่อ มือสะอาด แต่เบื้องหลังโกงชาติ จะต้องมีจิตบริสุทธิ์ ตัดสินใจดีอยู่ประจำจนเป็นนิสัย คำที่มีความหมายตรงข้ามกับคุณธรรม คือ กิเลส(vice) ซึ่งคนที่มีกิเลสจะไม่สามารถพัฒนาคุณธรรมของตนเองได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น